การกอดในครอบครัวมีความสำคัญมาก ผู้เขียนเรียนรู้จากการที่ได้เลี้ยงลูกคนแรกค่ะ เด็กเล็กชอบให้พ่อและแม่กอดเขาบ่อยครั้ง เวลาที่ลูกร้องไห้งอแง แม่จะกอดเขาไว้พร้อมกับพูดให้เขารู้สึกปลอดภัย ไม่นานจากที่งอแงหนักก็จะเบาลง ต่อเนื่องมาถึงวัยอนุบาล เป็นวัยที่ต้องเรียนรู้และอาจมีความซนและดื้อเข้ามาร่วมด้วย ความดื้อนี่เองที่หลายครั้งเป็นสาเหตุให้ถูกแม่ดุ ไม่มีเด็กคนไหนชอบการถูกดุหรือลงโทษ(ผู้ใหญ่อย่างเราก็ด้วยค่ะ) ทุกครั้งที่ดุหรือสอนลูกจะพูดเหตุผลที่ลูกถูกดุเสมอ และจบการสอนครั้งนั้นด้วยการเรียกเข้ามากอดพร้อมกับบอกว่า “แม่รักลูกนะ แม่ไม่อยากให้ลูกทำผิดอีก” การใช้คำพูดที่ดีและการกอดทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเสมอค่ะ สำหรับความรักระหว่างคู่รักในครอบครัว แนะนำว่าคุณสามีและภรรยาควรหมั่นพูดให้กำลังใจกันและกัน หาเวลานั่งกินข้าว มองตากัน แค่เราได้แบ่งปันหรือเล่าเรื่องที่เจอมาตลอดทั้งวันให้กันฟัง เพียงเท่านี้มันก็สร้างสุขได้มากพอแล้ว จะมีอะไรดีไปกว่า การได้คุยกับคนที่เรารักอย่างสบายใจ จะเชื่อหรือไม่ คงต้องให้ผู้อ่านได้ลองประสบการณ์นี้ด้วยตนเอง
เคยอ่านงานวิจัยทางพยาบาลศาสตร์เล่มหนึ่ง กล่าวว่า การกอดจากบุคคล ที่รักและปรารถนาดีเป็นพลังสัมผัส (Therapeutic Touch) นอกจากจะทำให้ผู้ได้รับเกิดความรู้สึกที่ดี ผ่อน คลาย และมีความสุขแล้วยังสามารถลดความเจ็บปวด ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล ลดความดันโลหิต หัวใจเต้นช้าลง และลดภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บป่วยได้ (ดวงเนตร ธรรมกุล และ เทียมใจ ศิริวัฒนกุล,2559) นักวิชาการทั้งสองท่านได้กล่าวถึงพลังแห่งการกอดในงานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ บอกว่า นอกจากการรักษาทางพยาบาลแล้ว ครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุด้วยการกอด เพราะนั่นเท่ากับสร้างความเชื่อมั่น ความอบอุ่นให้กับผู้สูงอายุได้ ผู้เขียนอ่านมาถึงตรงนี้ก็รับรู้ได้ว่า แท้จริงแล้วคนทุกเพศวัยล้วนต้องการความรัก ความอบอุ่น ยาทางใจที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ยาที่เป็นวัตถุ แต่ถ้าเราใส่ใจกันและกันผ่านวิธี #การกอด มันจะดีมากๆ ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว (อ้างอิง 1)
รู้หรือไม่คะ การกอดเค้ามีแบ่งประเภทด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดของ Kathleen Keating (แคทลีน คิตติ้ง) พยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญในประโยชน์จากการกอดและยังเป็นเจ้าของหนังสือ Hug Therapy แต่บทความไม่ได้นำมาเล่าให้ฟังทั้งหมดค่ะ เกรงว่าจะเยอะเกินไป แต่ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นการส่วนตัว และพบว่ารูปแบบการกอดแบบนี้ พบเห็นการทั่วไป นั่นคือ #กอดแบบหมี หรือที่เรียกว่า #bearhug อธิบายให้เห็นภาพก็คือ คนกอดจะตัวโตกว่า สูงกว่า เวลากอดกันผู้กอดและผู้ถูกกอดหันหน้าเข้าหากัน คนที่สูงกว่าลดตัวลงมากอด ใช้แขนทั้งสองข้างโอบรอบไหล่ของคนที่ตัวเล็กกว่า ร่างกายทั้งสองสัมผัสกันและกัน กอดลักษณะนี้ทั้งคู่จะรู้สึกได้ถึงพลัง ความอบอุ่นและความปลอดภัย เพื่อนๆลองสังเกตตัวเราเอง กอดแบบนี้คุ้นบ้างไหม "กอดกันเถอะเรา สร้างพลังทางใจ"
ขอขอบคุณที่ติดตามบทความของเรา
เป็นกำลังให้ผู้เขียน สามารถพิมพ์ส่งกำลังใจให้ได้ค่ะ "ขอบคุณค่ะ"
แหล่งอ้างอิง
อ้างอิง1 ดวงเนตร ธรรมกุล และ เทียมใจ ศิริวัฒนกุล, 2559, วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข, เว็บไซต์ https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28266 เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565.