เมื่อฝนยังไม่หมดฤดูกาล และยังมีมรสุมคอยเติความรุนแรง หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง หลายพื้นที่น้ำท่วมไหลเข้าถึงพื้นที่อาศัย ความชื้นที่สะสมจากสภาพอากาศทำให้เชื้อโรคต่างๆหลายชนิดสามารถแพร่กระจายและระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งโรคต่างๆ ที่มักเป็นกันบ่อยในช่วงหน้าฝนนี้เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ออกมาประกาศเตือนถึงโรคที่มักจะระบาดและเป็นในช่วงหน้าฝนมีทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคที่มียุงเป็นพาหะ โรคที่ติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคที่ติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง และโรคที่เป็นมากในเด็กเล็กนั่นก็คือโรค มือ เท้า ปาก ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือหน้าฝนเราจึงนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆเหล่านี้มาฝากกัน
1) กลุ่มที่สามารถติดต่อได้จากทางน้ำและอาหาร จะเป็นโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหารและลำไส้
ซึ่งมีสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคจากการทานน้ำดื่มหรือรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด เช่นการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือรับประทานอาหารที่มีสารปนเปื้อนหรือการปนเปื้อนของเชื้อโรค เช่น เชื้อจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรีย โดยโรคที่พบบ่อยๆเช่น โรคท้องเสีย,อหิวาตกโรค ,โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน,โรคอาหารเป็นพิษ, โรคบิด โดยจะมีอาการหลักๆคือปวดท้องแบบปวดบิด ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายไม่หยุด หรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีไข้และอาการปวดหัว รวมถึงอาจเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ ทำให้หมดสติได้ ดังนั้นพวกเราจึงต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มมาดเป็นพิเศษ ควรที่จะใช้ช้อนกลางตักอาหาร ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับของกิน ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการทานอาหารสุกๆดิบๆหรืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ผักดิบ ลาบหรือก้อยดิบ รวมถึงดูแลทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ใส่อาหารให้สะอาด
2) กลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่
สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคคืออากาศที่เย็นและชื้นทำให้เชื้อโรคสามารถเติบโตได้ดี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายชนิด เมื่อเราถูกน้ำฝนก็มีโอกาสติดเชื้อได้โดยง่าย เป็นโรคที่ติดต่อและแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอ จามและผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ซึ่งโรคไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด โดยคนที่เป็นไข้หวัดจะมีไข้ต่ำ น้ำมูกใส ระคายคอ เสียงแหบ และไอ ซึ่งคนที่เป็นหวัดควรที่จะดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการมักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน สำหรับไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงหรือพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยใน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ โดยจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงมักมีน้ำมูกและมีอาการไอร่วมด้วย และที่สำคัญคืออาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะปอดอักเสบได้
3) กลุ่มโรคที่เกิดจากการมีสัตว์เป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย โรคฉี่หนู
โรคไข้เลือดออก ถือเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ระบาดหนักอย่างมากในช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายจะเพาะพันธุ์ได้ดีในหน้าฝนที่มีฝนตกลงมาท่วมขัง กลุ่มผู้ป่วยพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาการของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกคือ ไข้สูงมากนาน 2-7 วัน มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อาจพบจุดเลือดจุดเล็กๆออกที่ผิวหนัง ถึงแม้ในบางคนโรคไข้เลือดออกอาจจะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
โรคไข้มาลาเรีย เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากการมียุงเป็นพาหะ โดยโรคไข้มาลาเรียเกิดจากยุงก้นปล่อง ซึ่งมักจะพบแหล่งเพาะพันธุ์ได้ตามป่าทึบ ตามบริเวณเขาสูง หรือตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด อาการของผู้ที่เป็นโรคไข้มาลาเรีย หรือโรคไข้ป่า จะมีอาการทั่วๆไปคล้ายกับโรคไข้หวัดเช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ หรือบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารร่วมด้วย แต่จะไม่มีน้ำมูก อาการต่างๆเหล่านี้อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด โดยทั่วไปจะเกิดอาการหลังจากการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายในประมาณ 10-28 วัน
โรคฉี่หนู เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า สัตว์ป่า เป็นต้น เชื้อโรคจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมขัง ตามดิน โคลน น้ำเสียในท่อระบายน้ำ ร่องน้ำต่างๆ สามารถเป็นได้ในทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากที่สุดใน กลุ่มชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ และคนที่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขัง คนงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อาการที่พบคือหลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-2 สัปดาห์ คือจะมีไข้สูงเฉียบพลัน สลับกับไข้ลด มีอาการปวดศีรษะ รวมถึงมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีอาการตาแดง คอแข็ง หากเป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ควรเดินลุยน้ำหรือเหยียบน้ำสกปรกด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะคนที่มีบาดแผล ควรที่จะใส่รองเท้าปกปิดและห่อหุ้มเท้าให้มิดชิดก่อนเดินลุยน้ำ ไม่ให้บาดแผลสัมผัสกับน้ำสกปรกเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
4) โรคตาแดง
อีกหนึ่งโรคฮิตที่มักจะเกิดในหน้าฝนคือ โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี เป็นต้น ถือเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว มีการติดต่อและแพร่กระจายผ่านทางน้ำตา การสัมผัสโดยตรงจากมือหรือของใช้ของผู้ป่วย และไปสัมผัสตาของอีกคน ถูกฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา รวมทั้งการใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วยก็สามารถได้รับเชื้อเข้าสู่ดวงตาได้เช่นกัน ซึ่งโรคตาแดงนี้จะไม่มีการแพร่กระจายและติดต่อทางการมอง ทางอากาศ หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยสามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ
5) โรคมือ เท้า ปาก
สำหรับหน้าฝนโรคที่ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นกังวลกันอย่างมากคือโรคมือ เท้า ปาก โดยส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ อาการของผู้ที่เป็นส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นแผลในปาก หรือมีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมถึงอาจมีตามลำตัว แขน ขา เป็นต้น จะปรากฏอาการดังกล่าว 3-5 วัน แล้วหายได้เอง แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ โดยโรคนี้สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งโดยตรงการที่มือเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ติดเชื้อและเผลอนำเข้าปาก นอกจากนี้ยังสามารถรับเชื้อโดยการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อได้อีกด้วย วิธีการป้องกันที่สำคัญสามารถทำได้โดยหมั่นทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ทุกวัน ที่สำคัญคือเมื่อพบว่ามีเด็กติดเชื้อหรือป่วยต้องทำการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับคนอื่นๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
By Little Pig
ที่มาของข้อมูล
https://www.siphhospital.com/th
https://www.phyathai-sriracha.com